นักกีฬาว่ายน้ำ

ประสบการณ์เฉียดตาย ในแม่น้ำโขง จากปากอดีต นักกีฬาว่ายน้ำ

หลังจากกิจกรรม 1 คนว่าย หลายคนให้ ในวันที่ 22 ตุลาคม กิจกรรมว่ายน้ำข้ามโขง โดยโตโน่ ภาคิน นั้นก็ให้เกิดกระแสสังคม เป็นที่วิพากษ์วิจายกันเป็นจำนวณมาก โดยบุคคลในวงการว่ายน้ำทะเลเปิด และแม่น้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่ม ที่ได้ออกมาแสดงความเห็นถึง กิจกรรมดังกล่าว ของโตโน่ด้วยเช่นกัน

และวันนี้เราจะมาพูดคุยกับ เหล่าอดีตนักไตรกีฬามืออาชีพ และนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ ที่ต่างเคยมีประสบการณ์เฉียดตาย ในการว่ายน้ำในแม่น้ำโขง ว่าพวกเขาเหล่านี้ ต้องพบเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง และได้เตรียมตัวรับมืออย่างไร กับเหตุการณ์ เกือบเอาตัวไม่รอด ในลุ่มแม่น้ำโขง

นักกีฬาว่ายน้ำ
กลย์ธัช คุณาบริมาส อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ และนักไตรกีฬา เล่าให้ทางเราฟัง

“ตอนแข่งว่ายน้ำที่แม่น้ำโขง รอบ ๆ ก็จะเป็นแหล่งชุมชน มีป่าไม้บ้าง สิ่งที่ผมเจอตลอดทางการว่าย ก็จะเป็นพวกเศษไม้ ซากสัตว์ที่ลอยผ่าน หรือไม่ก็ขอนไม้ที่เกือบเฉียดหน้า ซึ่งถ้าโดนเต็ม ๆ ก็คงจะเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน” กลย์ธัช คุณาบริมาส อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ และนักไตรกีฬา เล่าให้ทางเราฟังถึงประสบการณ์การแข่งว่ายน้ำในรายการ “โขงนทีไตรกีฬา” จ.นครพนม เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2563

“ต้องเข้าใจก่อนว่า ร่างกายของมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้อยู่ในน้ำ ไม่เหมือนการวิ่ง การเดิน ดังนั้น การจะว่ายน้ำในระยะทางที่ไกล ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ก็ต้องอาศัยการฝึกซ้อมที่นาน ขั้นต่ำคือ 6 เดือน เพื่อให้ร่างกาย กล้ามเนื้อ และสมองได้จดจำความรู้สึกที่อยู่ในน้ำ” กลย์ธัช เล่าต่อว่า โดยปกติจะลงแข่งขันว่ายน้ำทั้งในสระว่ายน้ำ บึง ทะเลเปิด และแม่น้ำเป็นประจำอยู่แล้ว

ตั้งแต่ระยะสั้น 50 เมตร จนถึงระยะทางร่วม 5 กิโลเมตร ซึ่งการซ้อมแต่ละครั้ง ก็จะแตกต่างกันไป “ถ้าเรารู้ว่า เราจะไปแข่งที่แม่น้ำ อย่างเช่นแม่น้ำโขง ก็ต้องมีการลงซ้อมในสระ ว่ายทำระยะทาง สลับกับลงไปว่ายในแหล่งน้ำธรรมชาติบ้าง อย่างเช่นบึง และก่อนที่จะมีการแข่งขันก็ควรจะต้องลงสถานที่จริงอย่างน้อย 1-2 วันก่อนแข่ง เพื่อให้เข้าใจสภาพน้ำตรงนั้น”

ด้าน พรสุดา ไวนิยมพงศ์ อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ ผู้ทำสถิติการว่าย 10 กิโลเมตร ที่ 2 ชั่วโมง 18 นาที และเคยเข้าร่วมการแข่งขันนานาชาติมาหลายรายการ อย่างเช่น 4th Asian Beach games 2014 กล่าวว่า “โดยปกติเวลาแข่งว่ายน้ำ แค่แข่งระยะทาง 200 เมตร ก็ต้องมีการฝึกซ้อมขั้นต่ำ 5,000 – 6,000 เมตรอยู่แล้ว

ถ้าจะว่ายระยะทาง 10 กิโลเมตร ก็ควรจะต้องซ้อมอย่างน้อยวันละ 20 กิโลเมตร แบ่งเป็นเช้า 10 กิโลเมตร เย็น 10 กิโลเมตร และยังไม่รวมการเวทเทรนนิ่งอีก” พรสุดา เสริมว่า การซ้อมว่ายน้ำระยะทาง 10 กิโลเมตร ไม่ใช่เป็นการว่าย 10 กิโลเมตรเลยทีเดียว แต่จะว่ายเป็นโปรแกรม เช่น 1 กิโลเมตร 3 เที่ยว และผสมกับการว่ายแบบอื่น เป็นต้น

การออกแบบโปรแกรม จะมีโค้ชผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้การฝึกซ้อม ก็เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของร่างกาย พัฒนาความทนทานของกล้ามเนื้อ ความแข็งแรง สร้างความมั่นใจให้กับนักกีฬาในการว่ายไปให้ถึงจุดหมาย ในระยะเวลาที่กำหนดไว้

กลย์ธัช ให้ความเห็นสำหรับคนทั่วไปที่อยากว่ายน้ำในทะเลเปิดหรือแม่น้ำ ว่า สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือการเตรียมตัว เพราะอย่างนักกีฬาที่มีความชำนาญ ก็ต้องมีการวางแผนการฝึกซ้อมอย่างน้อย 1 ปี หรือถ้าเวลาน้อยจริง ๆ ก็ไม่ควรต่ำกว่า 6 เดือน “ถ้าร่างกายไม่พร้อม โอกาสที่จะโดนกระแสน้ำพัด หรือจมน้ำก็มีสูง แม้จะมีทุ่นติดอยู่ที่ตัวก็ตาม”

อุปกรณ์ไม่พร้อม อาจจะเพิ่มอุปสรรคการว่ายได้

พรสุดา เล่าว่า อุปกรณ์ที่ใช้ว่ายในสระว่ายน้ำทั่วไปกับแหล่งน้ำธรรมชาติ จะมีความแตกต่างกันพอสมควร เพราะหากใช้อุปกรณ์ผิดประเภท ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ “อย่างน้อย ชุดว่ายน้ำก็ควรเป็นชุดที่สั่งทำเฉพาะสำหรับการว่ายในทะเลเปิด หรือแม่น้ำ เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะสัตว์มีพิษหรืออะไรรึเปล่า และหากไปใช้เว็ทสูท (wet suit) ทั่วไป ก็อาจจะทำให้ชุดมีการดูดซับน้ำตลอดการว่าย ส่งผลให้น้ำหนักมากขึ้น การว่ายต้องใช้แรงมากขึ้น”

“ในบางประเทศก็มีกฎบังคับว่านักกีฬาต้องมีการใส่เว็ทสูท เพราะอุณหภูมิน้ำในต่างประเทศจะค่อนข้างเย็น อย่างตอนที่ผมเคยว่ายที่แม่น้ำโขง ตอนนั้นอุณหภูมิน้ำก็อยู่ที่ 22 องศาฯ ได้ ถ้าไม่ใส่ โอกาสที่จะเกิดอาการช็อคน้ำ และเสียชีวิตมีสูงมาก” กลย์ธัช กล่าว

“บางทีชุดว่ายน้ำ ถ้าไม่เหมาะสม ก็อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ ถ้าชุดดูดซับน้ำมากมันก็จะเป็นตัวถ่วงให้เรา ยังไม่รวมเรื่องการที่ผิวหนังต้องเสียดสีกับชุดตลอดเวลา ดังนั้น นักกีฬาส่วนใหญ่จะนิยมทาวาสลีนไว้ที่คอเสมอ เพราะถ้าเกิดคอเป็นแผล โอกาสที่แผลจะติดเชื้อมีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในแม่น้ำโขง” พรสุดา เสริม นอกจากชุดว่ายน้ำ ก็จะเป็นเรื่องของแว่นตา และหมวก ซึ่งพรสุดาให้ความเห็นว่า

“การใส่หมวกว่ายน้ำในระยะทางไกล ๆ บางทีอาจจะไม่จำเป็น เพราะหมวกว่ายน้ำมันจะค่อนข้างรัดศีรษะ อาจจะก่อให้เกิดอาการปวดหัว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน” “สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะสำหรับนักว่ายน้ำมือสมัครเล่น ก็จะเป็นเรื่องทุ่นผูกตัว เพราะจะเป็นสัญลักษณ์บอกตำแหน่งว่าตัวของเราอยู่ตรงไหน หรือหากเกิดอาการเหนื่อยมาก ๆ ก็สามารถเกาะทุ่นรอความช่วยเหลือได้” กลย์ธัช กล่าว

ความเสี่ยงในการว่ายน้ำโขง ในฤดูน้ำหลาก

ปกติแล้ว การว่ายน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติจะแบ่งออกเป็นสามแหล่งน้ำ ได้แก่ บึง ทะเลเปิด และแม่น้ำ ซึ่งทั้งสามแหล่งน้ำมีความแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่ บึง จะได้รับความนิยม เพราะไม่ค่อยมีกระแสน้ำ และง่ายต่อการจัดการด้านความปลอดภัย ในขณะที่ทะเลจะมีคลื่นลม กระแสน้ำ แต่ด้วยพื้นที่กว้าง การจัดการเรื่องความปลอดภัยจะทำได้ค่อนข้างสะดวกกว่าแม่น้ำ

“ตอนที่ผมว่ายในแม่น้ำโขง แค่เอามือมาไว้ตรงหน้าก็มองไม่เห็นแล้ว และเราจะรู้ได้ไงว่ามีอะไรลอยมากับน้ำบ้าง อย่างที่ผมบอกว่าเกือบจะโดนขอนไม้กระแทกหน้าไปเหมือนกัน แม้ทางผู้จัดจะมีการเตรียมตัวแล้วระดับนึง แต่ความเสี่ยงมันก็ยังมี” กลย์ธัช กล่าว

นอกจากนี้ พรสุดา ให้ความเห็นว่า การศึกษานอกจากการดูกระแสลม กระแสน้ำแล้ว ก็ควรต้องดูเรื่องพยากรณ์เสริมขึ้นมาด้วย เพราะหากระหว่างการว่ายเกิดมีพายุเข้ามา โอกาสที่เกิดอุบัติเหตุมันก็สูงขึ้น และประสิทธิภาพการช่วยเหลือมันก็มีต่ำลง “มันก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานหนักขึ้น หากเราไม่ประเมินสถานการณ์ให้ดี”

ด้านกลย์ธัช บอกว่า ทุกการแข่งขัน ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ จะมีการทำความสะอาดสถานที่เสมอ อย่างกรณีแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เคยมีการจัดการแข่งขัน ก็จะใช้อวนดักขยะ ซึ่งการเตรียมตัวก็ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์

ขอบคุณแหล่งที่มา : bbc.com

สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : wardellinger.com