สัญญาณอันตราย ทารกแรกเกิดมีอาการแบบนี้รีบพามาพบคุณหมอด่วน!

-ตัวเหลืองมาก
-ตัวร้อน มีไข้ ซึม
-หายใจเร็วมากกว่า 60 ครั้ง/นาที หรือหายใจหอบ
-มีอาการบวม แดง มีหนองที่สะดือ ตา หรือผิวหนัง
-ไม่ยอมดูดนม
-ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือดปน
-ท้องอืด หรืออาเจียนหลังให้นมทุกหรือ / อาเจียนมีสีเขียวหรือสีเหลืองปน
-ไม่ถ่าย ไม่ปัสสาวะเลยใน 24 ชั่วโมง

มาตรวจตามนัด
คุณพ่อคุณแม่ ควรพาลูกมาพบแพทย์เพื่อตรวจตามวันนัดหมาย หากลูกมีอาการผิดปกติ เช่น ตัวเหลือง มีไข้ ซึมลง ไม่ดูดนม ท้องเสีย ท้องอืด อาเจียน ถ่ายเหลว ถ่ายมีมูกเลือดปน ให้รีบพามาพบแพทย์ก่อนวันนัด

สมุดบันทึกสุขภาพ
ลูกน้อยจะมีสมุดบันทึกสุขภาพประจำตัว เพื่อบันทึกเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ได้แก่ วันเดือนปีเกิด เวลาเกิด น้ำหนัก ส่วนสูง กรุ๊ปเลือด และประวัติการรับวัคซีน รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับการให้อาหารเสริม พัฒนาการของทารกในแต่ละวัย คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านรายละเอียดในสมุดบันทึกสุขภาพ และควรนำมาด้วยทุกครั้งที่มาพบแพทย์

การฉีดวัคซีน
ทารกแรกเกิดได้รับวัคซีนแล้ว 2 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) และวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) เข็มที่ 1

สำหรับวัคซีนป้องกันวัณโรคจะฉีดที่ “ต้นแขนซ้าย” การฉีดที่ได้ผลเมื่อทารกอายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะเห็นเป็นตุ่มแดงนูน บริเวณที่ฉีดอาจมีหนองหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีหนองแตกออก ให้เช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้นให้สะอาดด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุก ไม่จำเป็นต้องใส่ยาใดๆ ตุ่มนี้จะค่อยๆ แห้งลง และมีรอยบุ๋มตรงกลาง กลายเป็นแผลเป็นภายใน 3-6 สัปดาห์ (ถ้าไม่มีตุ่มขึ้น กรุณาแจ้งแพทย์เมื่อมาตรวจสุขภาพ)

การเช็ดสะดือ
ใช้แอลกอฮอล์ 70% ในการเช็ดทำความสะอาดสะดือทารก โดยใช้สำลีหรือไม้พันสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดบริเวณสะดือ โดยจับขั้วสะดือยกขึ้น แล้วเช็ดให้ถึงโคนสะดือทุกวัน และเช็ดในร่องลึกที่โคนสะดือด้วย โดยปกติขั้วสะดือจะหลุดภายใน 7-10 วัน หลังคลอด หลังจากขั้วสะดือหลุดแล้วอาจจะมีเลือดซึมเล็กน้อย หรือมีคราบสีเหลืองบริเวณสะดือได้ ให้เช็ดสะดือด้วยแอลกอฮอล์ 70% ต่อไป จนกว่าสะดือจะแห้งดี (ห้ามใช้แป้งหรือยาผงใดๆ โรยสะดือเป็นอันขาด)

การตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิด
ทางโรงพยาบาลได้ทำการเจาะเลือดทารก เพื่อตรวจหาโรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด และโรคพีเคยู (PKU) ซึ่งเกิดจากการขาดเอนไซม์ย่อยกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง โรคทั้งสองนี้เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะปัญญาอ่อน ซึ่งยังไม่แสดงอาการตอนแรกเกิด การตรวจเลือดจะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้เร็วและให้การรักษาได้ทันก่อนที่จะเกิดภาวะปัญญาอ่อน ถ้าผลการตรวจเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดปกติ ทางโรงพยาบาลจะมีการติดต่อให้คุณพ่อคุณแม่ พาลูกน้อยมาเจาะเลือดเพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาล แต่ถ้าไม่มีการติดต่อกลับจากโรงพยาบาล แสดงว่าผลเลือดเป็นปกติ

การขับถ่ายของลูกน้อย
การถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง โดยปกติทารกแรกเกิดอาจถ่ายอุจจาระวันละหลายครั้งได้ โดยเฉพาะในทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ ขณะดูดนมแม่ บิดตัว หรือผายลม อาจมีอุจจาระเล็ดออกมาด้วย หรือทารกอาจถ่ายอุจจาระทุกครั้งหลังกินนมแม่เสร็จ ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นอาการปกติ ส่วนอาการท้องเสียในทารกแรกเกิดนั้น จะไม่ได้นับที่จำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ แต่ควรดูจากลักษณะอุจจาระ ซึ่งจะมีลักษณะเหลวเป็นน้ำ ไม่มีกากปน หากมีกลิ่นเหม็นคาวหรือมีมูกเลือดปน ควรรีบพาทารกมาพบแพทย์

การไม่ถ่ายอุจจาระทุกวัน เป็นอาการที่พบได้มาก ทารกไม่จำเป็นต้องถ่ายอุจจาระทุกวัน บางคนอาจถ่ายวันเว้นวัน หรือ 1 ครั้ง/หลายวัน แต่อุจจาระที่ออกมาจะมีลักษณะนิ่ม ทารกสามารถถ่ายอุจจาระได้ไม่ลำบาก และไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ถือว่าปกติ แต่อาการท้องผูก หมายถึง การถ่ายอุจจาระเป็นก้อนแข็ง ทารกไม่สามารถเบ่งถ่ายอุจจาระออกมาได้ หรือถ่ายลำบากและมีอาการท้องอืด อึดอัด ร้องกวน หรืออาเจียน คุณพ่อคุณแม่ควรพามาพบแพทย์

 

ติดตามเรื่องเกี่ยวกับเด็กได้ที่  wardellinger.com